top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPrayoon Hongsathon

กระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำ และความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในกองถ่าย



ในกองถ่ายหนังที่กินเวลายาวนาน นำพาไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ นานา กว่าจะถ่ายทำจบ เรื่องราวเบื้องหลังของมันก็เต็มด้วยเหตุการณ์มากมาย ดุเดือดไม่แพ้เรื่องราวในหนังเลยทีเดียว


อย่างเหตุการณ์ช่วงหนึ่ง เรื่องเกิดขึ้นวันที่กองถ่ายยกกองไปที่แก่งปลาปก อำเภอปากชม จังหวัดเลย ค่ำวันนั้นหลังปิดกอง ทุกคนต่างเคลียร์ข้าวของ ขนกลับมาเก็บที่แคมป์พัก แม้จะช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้ว แต่หน้าที่หลักย่อมเป็นทีมฝ่ายฉากและสถานที่ พวกเขาต้องเก็บกวาดและสำรวจอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย วันนั้นพี่อาร์ท วิทวัส พลช่วย หัวหน้าฝ่ายฉาก ได้มอบหมายให้ชาน (เด็กโจงแดงแห่งบ้านเรียนละครมรดกใหม่) เคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย พบเห็นอะไรที่ใช้ในกองถ่ายก็ให้ขนขึ้นไปเก็บให้หมด


คืนนั้นหลังอาหารค่ำ กิ๊ก สุรีพร (ซึ่งเล่นเป็นจำปา) เมื่อกินข้าวเสร็จแล้วเธอจึงเพิ่งนึกได้ว่ากำไลข้อเท้าที่ใช้สวมเข้าฉากนั้นไม่ได้อยู่กับเธอ เธอหา..หา..หา..จนออกอาการหงุดหงิด ถามคนโน้นคนนี้ก็ไม่มีใครเห็นกำไลข้อเท้านั่น กิ๊กจึงไปสอบถามกับชานซึ่งกำลังนั่งขัดสมาธิกินข้าวอยู่บนพื้นหญ้า

ชานบอกว่าไม่เห็นและไม่ได้รับผิดชอบเรื่องพร็อพ กิ๊กคงรู้สึกเหมือนถูกย้อน เธอเริ่มมีอารมณ์จึงตอกกลับไปว่า ชานเป็นคนเก็บของก็ต้องดูให้หมดสิ ชานก็สวนกลับว่า พี่เป็นคนใส่เองก็ต้องเก็บเองสิ... ต่างฝ่ายต่างเถียงกันอยู่สักพักก็มีน้องคนหนึ่งตะโกนมาบอกว่าเห็นกำไลข้อเท้าเส้นนั้นแล้ว มันติดไปในกล่องใส่เสื้อผ้านักแสดง กิ๊กจึงเดินสะบัดหนีไป ส่วนชานพุ้ยข้าวยัดใส่เต็มปาก กระเดือกลงท้องด้วยความกล้ำกลืน ผมมองดูแล้วกลัวข้าวจะติดคอตายเหลือเกิน ในใจคิดไปว่าพวกเขาเถียงกันขนาดนี้ เป็นคนทั่วไปคงโกรธกันนานเป็นเดือน



วันรุ่งขึ้น กองถ่ายต้องมุดดงไผ่และข้ามคลองไปถ่ายทำอยู่อีกฝั่งน้ำ เช้านั้น ชานยังทำหน้าที่เคลียร์ความเรียบร้อยหน้ากองถ่าย ตัดกิ่งไม้เปิดทางแล้วต้องลงลุยน้ำดันท่อนไม้และเก็บหินก้อนแหลมๆ คมๆ ที่เสี่ยงต่อการทิ่มตำเท้าออกไปจากบริเวณหน้ากองให้หมด พวกผู้ชายที่ใส่กางเกงก็พอไถลลงไปกับตลิ่งลื่นๆ ข้ามน้ำไปได้โดยไม่ยากนัก แต่กิ๊กคือผู้หญิงคนเดียวที่ต้องลงไปเข้าฉาก ทั้งเธอยังนุ่งผ้าถุงซึ่งต้องใส่เข้าฉากด้วย เช่นนี้จึงจำเป็นต้องให้ใครสักคนช่วยแบกเธอข้ามคลองโดยไม่ให้ชุดเปียก

ครั้นมองซ้ายมองขวาก็ไม่เห็นมีใครจะอยู่ว่าง ต่างคนต่างทำง่วนอยู่กับหน้าที่ของตน จังหวะนั้นชานเดินลุยน้ำที่ไหลค่อนข้างแรงมาจากอีกฟากหนึ่ง กิ๊กยืนหน้าบูดๆ มองอยู่บนตลิ่ง พอชานเข้าไปใกล้แล้วเขาก็หันหลังกลับ พร้อมกับคำพูดเนิบๆ ว่า “พี่กิ๊กมาขี่หลังผม ผมแบกพี่ข้ามน้ำไปเอง”

กิ๊กยิ้ม แล้วพูดกลั้วเสียงหัวเราะว่า “ไอ้ชานเอ้ย..อย่าทิ้งพี่ลงกลางน้ำก็แล้วกัน”



เรื่องราวของพี่ๆ น้องๆ เรื่องราวของความเป็นเพื่อนร่วมงาน เมื่อพานพบปัญหาสารพัดสารพัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ย่อมบั่นทอนจิตใจของแต่ละคนเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งเมื่อร่างกายเหนื่อยล้า อารมณ์ความรู้สึกยิ่งต้องอ่อนไหวเป็นเงาตามตัว เช่นนี้การมีปากมีเสียงจึงเกิดขึ้น ปะทะ แล้วคลี่คลายอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าตามประสามนุษย์ปุถุชนทั่วไป เป็นความจริงที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน สะท้อนให้เห็นถึงว่านอกจากพวกเด็กๆ จะได้เรียนรู้วิชาการทำหนังจากผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเป็นกระบวนการแล้ว การเรียนรู้กันและกัน เข้าใจและยอมรับกันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันและทำงานสานภารกิจสำคัญร่วมกันต่อไปอย่างปรองดองสมานฉันท์นั้น คือสิ่งสำคัญในชีวิตจริง ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ในบ้านเรียนละครมรดกใหม่ เติบโตอย่างเต็มคน กล้าคิดกล้าทำอย่างสร้างสรรค์โดยยึดหลักส่วนรวมมาก่อนตน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำพาไปสู่การเป็นบุคลากรที่ดีของสังคมต่อไป



ขอปิดท้ายบทความการทำงานของเด็กๆ แห่งบ้านเรียนละครมรดกใหม่ กับโครงการทำหนังสร้างโรงเรียนเรื่อง “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” นี้ด้วยคำพูดของพี่จู พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร ทั้งในฐานะครูใหญ่และโปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ ซึ่งได้กล่าวสั้นๆ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ในโอกาสนี้ว่า "ระนาดเอกทางเปลี่ยน คือการเล่าเรื่องด้วยภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรกของมรดกใหม่ สิ่งที่น่าดูที่สุด หากไม่นับเรื่องของตำนานความเป็นระนาดเอกแล้ว หนังเรื่องนี้ทำงานกันแบบหลังชนฝา เอาการเรียนรู้ของเด็กเป็นเดิมพัน ไปพร้อมๆ กับว่า เราต้องได้เรื่องเล่าเป็นหนังที่ทิ่มแทงใจเรื่องหนึ่ง... การที่ได้คลุกวงในกับเด็กๆ มาปีแล้วปีเล่า พบว่ากระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้มันให้มากกว่านั้น การเติบโตของเด็กในหนัง นอกหนัง คือ มหัศจรรย์ของชีวิต”



ดู 21 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page