top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPrayoon Hongsathon

ปรัชญา 6 ข้อ ที่ศิลปินต้องมี

อัปเดตเมื่อ 19 ม.ค. 2562

“Quest for Utopia : ควานหาดินแดน...ที่ไปไม่ถึง”

คือหนังสือซึ่งเขียนโดย ครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง อันว่าด้วยเรื่องการเน้นที่เหตุซึ่งใครก็ตามหากคิดว่าตัวเองจะเป็นศิลปินพึงต้องกระทำ เพราะหลักคิดนี้คือรายละเอียดของการทำเหตุเพื่อการเข้าถึงผล หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่านี้คือหลักการปฏิบัติตนของคนที่มุ่งหวังจะฝึกฝนตนให้เป็นศิลปินอย่างแท้จริง มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ และจัดให้เข้าคู่กันได้ 3 คู่ ดังนี้

คู่แรก คือ เน้นให้ได้ผลที่สามารถมีทักษะ ได้แก่ - พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก - ทำแล้วทำเล่าจนทำได้
คู่ที่สอง ตั้งใจจะให้ได้ผลคือ “คิดเป็น” ได้แก่ - อยู่อย่างต่ำ ทำอย่างสูง - แผ่วที่ผล ทำที่เหตุ
คู่ที่สาม คือ ผลที่หวัง ได้แก่ - ไม่มีเรื่องเล่าที่เล่าไม่ได้ มีแต่นักแสดงที่เล่าไม่เป็น - เป็นอย่างที่กิน เป็นอย่างที่อ่าน เป็นอย่างที่สอน

ในคอลัมน์ Word of Wisdom ฉบับ Beyondcrazy.co ขอนำผู้อ่านไปรู้จักกับปรัชญาข้อแรกกันเลย นั่นคือ “พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก”



พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก

ปรัชญาข้อนี้ผู้อาวุโสนำมาจากอปริหานิยธรรม 7 คือธรรมแห่งความไม่เสื่อมที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดประทานแก่เหล่ากษัตรย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ให้ปฏิบัติเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว และเพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู คือถ้าปฏิบัติก็จะเจริญฝ่ายเดียว ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะถึงซึ่งความเสื่อม

ครูช่าง กล่าวว่า ชาวมรดกใหม่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะปรัชญาข้อนี้เป็นสำคัญ กล้ายืนยันโดยไม่ต้องปรึกษาใคร ที่จริงแล้วมรดกใหม่มีข้อปฏิบัติตามปรัชญาอยู่มากกว่านี้ แต่ที่พูดถึงเฉพาะข้อนี้ก็เพราะว่าชาวมรดกใหม่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนจะยกเป็นปรัชญาความเชื่อของเหล่าคณะด้วยซ้ำ ตั้งแต่มรดกใหม่ยังเป็นทุนนิยมอย่างเดียว หูตายังมืดบอดอยู่ ยังไม่รู้ประสีประสาอะไร ถือปฏิบัติกันมานานนม

แบบงู ๆ ปลา ๆ หาได้ลึกซึ้งถึงปัญญาไม่



ในเมื่อเราทำละคร เวลาจะแสดงละครจึงต้องรอให้พร้อมก่อนถึงจะเริ่ม ต้องจัดการกับคนดู ให้พร้อมใจที่จะดูกันเสียก่อน ต้องไม่ลืมให้ปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช้แฟลชถ่ายรูป ห้ามกินอะไรกรอบแกรบเสียงดัง ก็คือห้ามนำขนมเข้ามาดูด้วย เหล่านี้เป็นไปเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อละคร ซึ่งก็คืออาการพร้อมใจกันทำ แล้วพอละครจบ เหล่านักแสดงก็ออกมาโค้งคำนับขอบคุณคนดูที่มาชม จริง ๆ ลึก ๆ แล้วคือขอบใจที่ไม่ทำตัวแปลกแยก ไม่เป็นหนึ่งเดียว แล้วปรบไม้ปรบมือกันไป จะมีช่อดอกไม้มามอบให้ก็ย่อมได้ เสร็จแล้วเราก็พร้อมใจกันเลิก ไฟเปิด แยกย้ายกันไป



ถ้อยคำนี้ เหมาะกับคนไทยที่สุด โดยตัวภาษาแล้วได้ความหมายลึกซึ้งและชัดเจนกว่าภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ คำว่า “พร้อมใจ” ยังหมายไปถึงนามธรรมที่มองไม่เห็นด้วย แม้แต่สิ่งที่อยู่ในใจก็ต้องพร้อม จะแกล้งทำก็ไม่ได้ จะหาคำในภาษาอื่นมาแทนได้ยากจริงๆ ฟังแล้วไพเราะ อ่อนน้อมถ่อมตนดี มีความเป็นจิตอาสาอยู่ในความรู้สึก มันไม่ได้แปลว่า พร้อม ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ready ภาษาอังกฤษนั้นรู้สึกว่ามีอัตตาสูงกว่าของเราเยอะ และก็ไม่ใช่ togetherness ที่เน้นแต่รูปธรรมของความพร้อมเพรียง ถ้าจะพามาที่ใจก็ต้องแทรกคำว่า with เข้าไป เติม to be ไว้ข้างหน้าเป็น to be together with the heart หรือ to be together in harmony with body and mind ใช้ตั้งหลายคำแต่ก็ยังไม่โป๊ะเชะได้เท่าคำว่า “พร้อมใจ” ซึ่งสำหรับคนไทยแล้วเข้าใจเลย

“พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก” จึงเหมาะสำหรับคนไทยที่สุด แค่ฟังก็เห็นภาพ การลดตัวตน ลดอัตตามาให้ถึงซึ่งความพร้อมร่วมกันทั้งกายและใจในการทำกิจ แล้วถ้ากิจนี้เป็นกิจเพื่อความอยู่รอด เป็นความเป็นความตาย เช่นที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี เผชิญมาแล้วในสมัยพุทธกาล การ “พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก” คือความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องทำ ไม่ทำตาย! แล้วสำคัญสำหรับคนไทยมากกว่าชนชาติใดในโลก เพราะเรามีธรรมชาติที่เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว มิเช่นนั้นภาษาที่ใช้จะครอบคลุมได้ความหมายขนาดนี้ได้ยังไง นี่คือเอกลักษณ์ของความเป็นไทยด้วยซ้ำ

...............................

ติดตามอ่าน ปรัชญาข้อที่ 1 ตอนต่อไป


ดู 56 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page