top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPrayoon Hongsathon

พินัยกรรม อนุสาวรีย์แห่งพุทธทาส

อัปเดตเมื่อ 17 มี.ค. 2562

“พินัยกรรมของพุทธทาสฯ”




20 ตุลาคม 2548 องค์การยูเนสโก

ประกาศยกย่องท่านพุทธทาส เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งเป็นที่ยินดีของชาวไทยพุทธอย่างถ้วนทั่ว ทว่าหากท่านพุทธทาสยังอยู่ท่านคงไม่รู้สึกยินดียินร้าย ด้วยท่านได้วางซึ่ง “ตัวกู ของกู” ไปสิ้นแล้ว ทั้งการประกาศยกย่องครั้งนี้ถือเป็นการโฆษณาตัวบุคคล หาใช่เจตนาที่แท้จริงแห่งท่านพุทธทาส ผู้ไม่ต้องการอนุสาวรีย์ใด เพราะท่านได้สร้าง “พินัยกรรมของพุทธทาส” อันเป็นอนุสาวรีย์อันแท้จริงและสูงสุดแล้ว ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือชื่อ “พินัยกรรมพุทธทาส ระบบธรรม (เท่า) ที่นึกได้” ไว้ปลุกผู้คนจากความงมงาย ให้หลุดพ้นไปจากความทุกข์ร้อน ตื่นขึ้นมาพบความสะอาด สว่าง สงบเย็นของพระธรรม


“พินัยกรรมของพุทธทาสฯ” ดูจากรูปเล่มนับว่ามีเสน่ห์ที่แปลกไปจากหนังสือธรรมะทั่วไป เพราะการคงรูปเล่ม ลักษณะ สี ตลอดจนลายมือบนอนุทินไว้แทบทั้งหมด ทั้งนี้ด้วยทางผู้จัดพิมพ์แถลงว่าเพื่อเน้นอนุรักษ์ต้นฉบับงานเดิม และมุ่งให้เข้าถึงกระบวนการวิธีการทำงานของท่านพุทธทาสเป็นสำคัญ ตรงส่วนนี้ทำให้มองเห็นว่าแม้จะเป็นสมุดบันทึก (อนุทิน) ธรรมดา แต่เมื่อจดจารถ้อยคำที่เป็นแก่นธรรมลงไปโดยเถระผู้ผ่านการศึกษา ค้นคว้า และปฏิบัติจนเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาแล้วย่อมมีคุณค่าที่มิอาจประเมินได้ ทั้งยังทำให้เราเห็นถึงการไม่ยึดติดในวัตถุ รูปแบบ เนื้อหาสาระนั้นต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ และตรงที่ลายมือเขียนอันเป็นต้นฉบับของท่านพุทธทาสนี้เองทำให้พิจารณาได้ในหลายชั้น คือแรกอ่านถึงกับแปลกใจที่ว่าทำไมพุทธทาสสะกดบางคำผิดไปจากแบบแผน บางคำสะกดไม่เหมือนกัน หลายที่เขียนตกหล่น จนเหมือนภาพลวงตาลวงใจให้เขวคิดไปว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านพุทธทาสเขียนในวัยชรา (ช่วงปี 2530) กระนั้นเมื่ออ่านสำรวจจากต้นฉบับทั้งหมดอีกรอบ กลับเห็นว่าพุทธทาสมิได้จดถ้อยคำเหล่านั้นแล้วผ่านเลย ท่านยังกลับมาอ่านและเติมรายละเอียดที่หลงลืมในหัวข้อธรรมต่างๆ นั้นเพื่อให้เนื้อความครบสมบูรณ์ขึ้น แต่คำที่ตกหล่นหรือที่สะกดผิดกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข คล้ายจะทิ้งให้เป็นปริศนาธรรมในแง่ที่ว่า ในการทำงานใดๆ ควรมีสติสมาธิรอบคอบ มิเช่นนั้นการงานที่ทำอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาด ซึ่งแม้แต่บุคคลอย่างท่านก็ยังไม่อาจพ้นไปจากกฎนี้



เมื่อมองในอีกชั้นต่อมา จะได้แง่คิดที่ว่า ถ้อยคำที่ปรากฏทั้งหลายนั้นเป็นแค่เปลือกภายนอก ดูแล้ว อ่านแล้ว อย่ายึดติดเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งเกี่ยวโยงไปสู่หลักแห่งกาลามสูตร ที่ว่าอย่าเชื่อเพราะเห็นเป็นตำรา อย่าเชื่อเพราะเห็นท่านเป็นอาจารย์ ธรรมะซึ่งซ่อนอยู่ในถ้อยคำต่างหากที่ควรพินิจไตร่ตรอง ศึกษา ปฏิบัติให้เห็นจริงจากเหตุและผลด้วยตนเองเสียก่อน

แม้แต่ชื่อหนังสือ ท่านพุทธทาสยังบอกเป็นนัยว่า “ระบบธรรมเท่าที่นึกได้” การนึกเป็นลักษณะการคิดเพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วจดสิ่งที่นึกได้ในเวลานั้น ดังนั้นจึงมิอาจเป็นความคิดที่สมบูรณ์ทั้งหมด ด้วยต้องอาศัยการศึกษาทดลองอีกต่อหนึ่ง ดังจะเห็นในหัวข้อธรรมเรื่อง “พินัยกรรม ทำไม?” ว่า - บางอย่างขอให้ช่วยคิดต่อ, ให้ช่วยวิพากษ์วิจารณ์

แค่รูปเล่มของหนังสือ “พินัยกรรมของพุทธทาสฯ” ยังสามารถทำให้มองเห็นถึงกระบวนการอันแยบยลของพุทธทาส ที่มีวิธีในการสอนธรรมะอย่างแยบคาย นำหลักธรรมยากๆ มาอรรถาธิบายได้อย่างง่ายและเหมาะกับปุถุชนทั่วไป ในส่วนของเนื้อหานั้น แม้จะเป็นการบันทึกหัวข้อธรรม และสารธรรมหลากหลายหัวข้อที่เกี่ยวกับศาสนา ชีวิต และสังคม แต่เกือบทั้งหมดก็มีการอธิบายความสั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจ พิจารณาหรือศึกษาค้นคว้าต่อไป


หัวข้อธรรมหลายหัวข้อมีการกล่าวซ้ำ อย่างเช่นว่าด้วยเรื่องพินัยกรรม ซึ่งเน้นย้ำมากกว่าหัวข้อธรรมอื่นๆ โดยพินัยกรรมว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับปุถุชนในการดำรงชีวิตประจำวัน ตลอดถึงธรรมในการฝึกตนเพื่อขึ้นไปสู่การเป็นบุคคลขั้นสูง (ละตัวกู สู่ความว่าง เย็น) ต่อไป

หลักธรรมในบางเรื่องแม้จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กลายเป็นเรื่องที่เราหลงลืมหรือมองข้าม ท่านพุทธทาสมาปลุกให้เราตื่นพร้อมกับมองในเรื่องที่ท่านพูดอย่างเห็นเป็นเหตุเป็นผลด้วยหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งมักกล่าวย้ำเสมอ เช่นเรื่อง “สันติภาพไม่ต้องสร้าง” ว่า- สันติภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่มนุษย์สร้างวิกฤตกาลขึ้นมากลบมันเสียเอง คือสงครามและผลสืบเนื่องจากสงคราม หยุดสร้างวิกฤตกาล สันติภาพก็มีเองอย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องสร้างลักษณะที่ว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงเกิดนี้ ยังสามารถมองให้เชื่อมโยงกับหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ปัญหาโลกร้อน เมื่อมองตามหลักคิดแห่งพุทธทาสจะเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรณรงค์ในการแก้ปัญหาโรคร้อนแต่อย่างใด เพียงทุกคนหยุดสร้างปัญหา ลดความเห็นแก่ตัว ปัญหาทุกอย่างก็จะบันเบาลง


เรื่องเห็นแก่ตัวนี้ พุทธทาสเห็นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในอนุทินเล่มนี้ท่านได้ย้ำหลายครั้ง อย่างในหัวข้อ “ตั้งต้นลดความเห็นแก่ตัว เพียงแค่คิดก็บุญโข” ว่า- เพียงแต่คิดว่าจะช่วยเพื่อนมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง มันก็ได้บุญโขแล้วนะหลานเอ๋ย เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการลดความเห็นแก่ตัวโดยแท้จริง...แม้จะไม่มีพระพุทธรูปสักองค์ กางเขนสักอัน ฯลฯ แต่ถ้าคนไม่เห็นแก่ตัว โลกก็มีสันติภาพ- - และในหัวข้อพินัยกรรมว่าด้วย “เราไม่มีปัญญาที่จะมีเงินถึงล้าน” ว่า- เราไม่มีปัญญาที่จะมีเงินถึงล้าน แต่เราก็สามารถทำประโยชน์อันมีค่าถึงร้อยล้าน พันล้านอยู่ อย่าไปมัวหาเงินอยู่เลย มาทำประโยชน์กันดีกว่า นั่นคือทำให้เพื่อนร่วมโลกของเรารู้จักดับทุกข์ : หยุดเห็นแก่ตัว--

ยังมีหลักธรรมอีกหลายหัวข้อในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งควรอย่างยิ่งที่ปุถุชนทั่วไปจะได้ทำความรู้จัก ด้วยอย่างน้อยก็ช่วยปลุกให้ตื่นจากงมงายในชีวิตแต่ละวัน ก่อนพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์



……………………………………………………………………………………………………………

ข้อมูลหนังสือ

พินัยกรรมของพุทธทาส ระบบธรรม (เท่า)ที่นึกได้

เขียน - พุทธทาสภิกขุ

พิมพ์ - สวนโมกขพลาราม และคณะธรรมทาน

ดู 81 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page