top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPrayoon Hongsathon

ระนาดเอกทางเปลี่ยน ตอน 3

เมื่อหนังเปิดกล้อง..พร้อมมั้ย ไหวนะ เสื้อผ้าหน้าผมว่าไง..!?

“ฉันทะ ก็คือการเต็มใจทำ มีความต้องการที่จะทำ มีใจรักที่จะทำใจ ใฝ่รักที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ.. ‘ระนาดเอกทางเปลี่ยน’ ที่พวกเรากำลังเคี่ยวเข็ญให้เด็กๆ ในบ้านเรียนละครมรดกใหม่ทำอยู่ในตอนนี้ ก็คือการสอนให้เด็กรู้จัก ฉันทะ นั่นเอง”

พี่จู พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง “ระนาดเอกทางเปลี่ยน”

กล่าวในฐานะครูของเด็กๆ แห่งบ้านเรียนละครมรดกใหม่


ฟังพี่จูพูดแล้วผมก็นึกย้อนไปถึงคำพูดของพี่ติ้วหรือครูติ้ว ที่บอกว่า โปรเจ็กต์ในการสร้างหนังเรื่องนี้ สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการฝึกเด็กให้เรียนรู้ทั้งกระบวนการสร้างหนังตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นหากกล่าวให้กระชับก็ต้องบอกว่า หนังเรื่องนี้จะสร้างเด็กให้เป็นคนมีฉันทะ


แต่ก็นั่นแหละ เมื่อหนังมันมีกระบวนการและรายละเอียดมากมาย ฉันทะจะเกิดกับเด็กๆ ได้มากน้อยแค่ไหน พวกเขาจะใฝ่เรียนรู้และรักในสิ่งที่ทำไปได้เพียงใด การแปรกระบวนทัพการทำงานโดยแบ่งคนออกเป็นฝ่ายๆ จึงเป็นวิธีการทำงานอย่างแรกที่จะแจกแจงให้เด็กๆ ได้รู้จักหน้าที่รับผิดชอบของตน ฝึกรับผิดชอบกับการงานตรงหน้าให้พร้อมเสมอสำหรับการถ่ายทำหนัง ขณะเดียวกันก็ต้องประสานช่วยเหลือเพื่อนในฝ่ายอื่นๆ โดยไม่แบ่งแยกและระย่อต่อความไม่รู้ทั้งหลายทั้งปวง


กลุ่มความรับผิดชอบที่แบ่งออกเป็นฝ่ายๆ นั้น มีอยู่ 6 ฝ่าย ได้แก่

1.ฝ่ายเสื้อผ้าและแต่งหน้า 2. ฝ่ายฉาก 3. ฝ่ายเทคนิค 4. ฝ่ายสเลท รีพอร์ต คอนทินิว 5. ฝ่ายอาหารและสวัสดิการ และ 6. ฝ่ายดนตรี


เมื่อแบ่งหน้าที่กันแล้วแต่ละฝ่ายก็แยกย้ายกันไปเตรียมงาน รุ่นพี่ที่เป็นครูอย่างครูติ้ว ครูไก่ ครูจิ๊บ หรือรวมถึงพี่จู จะคอยเป็นแบ็กอัพให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ อีกทอดหนึ่ง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่าตัวหนังสือในบทความนี้เต็มด้วยคำถามของผู้เขียนที่มีต่อเด็กๆ กับภารกิจอันหนักอึ้งของพวกเขาในโครงการนี้อยู่เป็นระยะๆ - ..ไหวกันไหม..สู้ๆ นะเด็กๆ

และแล้ววันเปิดกล้องถ่ายทำ

ภาพยนตร์เรื่อง “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” ก็มาถึง


ผมเองรู้สึกยินดีปรีดาไปกับการเปิดกล้อง นึกขอบคุณคุณติ้ว ศุภเมธ หมายมุ่ง คุณไก่ ชิงชัย สายสินธุ ที่ชักชวน และขอบคุณครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ กับพี่จู พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร โปรดิวเซอร์โปรเจ็กต์ ที่เปิดโอกาสให้ผมได้มาเดินสังเกตการทำงานในกองถ่ายหนังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและให้ติดตามไปทุกพื้นที่ถ่ายทำ ภาพเบื้องหลังต่างๆ ตลอดถึงกระบวนการทำงานทั้งหลายจึงผ่านเข้ามาในสายตา นับเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ผมเองก็ตื่นเต้นไม่แพ้พวกน้องๆ ผู้ต้องรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในกองถ่ายแต่อย่างใด


พูดถึงกระบวนการทำงาน สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ เด็กทุกคนไม่ว่าถูกจับไปอยู่ฝ่ายใด พอถึงเวลาลงมือทำจริง พวกเขาจะสนับสนุนช่วยเหลือกันและกันแค่ไหน การเรียนรู้การทำงานเป็นทีมกับภารกิจใหม่อันหนักอึ้งและไม่คุ้นเคย เมื่อมีปัญหาพวกเขาจะโยนความรับผิดชอบหรือหาวิธีแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยกัน

อย่าลืมว่าเมื่อหนังถ่ายทำจริง การทำงานซึ่งต้องประกบกับเหล่ามืออาชีพในสายต่างๆ ของเด็กๆ พวกเขาต้องยกระดับให้ได้ใกล้เคียงมืออาชีพที่สุด ซึ่งแน่ละว่า ความคาดหวัง ความกดดันย่อมมีตามมา และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การถ่ายทำหนังต้องดำเนินไปตามตารางคิวถ่ายของแต่ละวันที่วางเอาไว้ หาไม่แล้วย่อมสูญเสียเวลา เสียงบประมาณมากขึ้น และที่สำคัญคือกระบวนการทำงานเรรวน กระทบแผนงานส่วนอื่นที่วางเอาไว้ทั้งระบบ


เอาล่ะ เมื่อหนังเปิดกล้องและเรารู้แล้วว่าแต่ละฝ่ายมีใครรับผิดชอบอะไร เราจะค่อยๆ ตามไปดูทีละกลุ่ม เริ่มจากฝ่ายเสื้อผ้าและแต่งหน้าเลยดีกว่า

ฝ่ายเสื้อผ้าและแต่งหน้า หัวหน้าทีมคือ กิ๊ก สุรีพร บุญยเลขา กิ๊ก เป็นนักศึกษาโจงน้ำเงิน ที่เข้ามาอยู่กับมรดกใหม่ตั้งแต่อายุ 13 ปี (เพิ่งจบการศึกษาจากสถาบันอาศรมศิลป์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม แขนงละครเพื่อการพัฒนา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562) ปัจจุบันกิ๊ก อายุ 24 ปี เป็นทั้งศิษย์ในสำนัก เป็นรุ่นน้องของพี่ๆ ขณะเดียวกันก็เป็นพี่ให้กับรุ่นน้องอีกนับสิบๆ คน กิ๊กเคยบอกกับผมว่า

“การเรียนรู้ที่บ้านเรียนละครมรดกใหม่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนตัวกิ๊กให้กลายเป็นคนละคน ให้เป็นคนที่พูดรู้เรื่อง รู้จักแบ่งปันของ รู้จักคิดถึงคนอื่นก่อน มีความสุขเล็กๆ กับการเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อหาทุนมาใช้จ่ายในโรงละคร และอีกหลายๆ อย่างที่ได้ทำร่วมกันกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในโรงละครแห่งนี้”

เสียงพูดรัวๆ เร็วๆ ของกิ๊กคล้ายมีก้อนอะไรสักอย่างมาจุกที่ลำคอ จากนั้นน้ำเสียงสั่นๆ เครือๆ ของเธอค่อยๆ เอื้อนเอ่ยอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า


“บ้านเรียนละครมรดกใหม่ ไม่ได้สอนให้เราเป็นแค่ผู้รับ แต่สอนให้เราเป็นผู้ให้ในทุกๆ ด้านค่ะ”

นั่นคือคำพูดแทนความรู้สึกบางส่วนของกิ๊ก สุรีพร ที่มีต่อมรดกใหม่ แสดงให้เห็นว่าเธอเติบโตและพร้อมจะอุทิศแรงกายแรงใจเพื่อภารกิจของสำนักไปพร้อมกับพี่น้องชาวมรดกใหม่


คุณติ้วเล่าให้ฟังว่า ตอนกิ๊กอายุ 16 ปี เรียนระดับชั้น ม.4 พี่ๆ ให้รับผิดชอบดูเสื้อผ้ากองถ่ายกองเล็กๆ เรื่อง “พรานน้อย” ครั้งนั้นเด็กสาวทำไปร้องไห้ไป เพราะทำไม่เป็นและต้องรับผิดชอบคนทั้งกองถ่าย

“มา ‘ระนาดเอกทางเปลี่ยน’ คราวนี้ นอกจากจะดูเสื้อผ้าในกองถ่ายที่ใหญ่ขึ้น กิ๊กต้องสอนงานน้องๆ ที่ไม่เป็นงานเหมือนตัวเองคราวนั้นด้วย ดูซิว่าจะนั่งร้องไห้อีกหรือเปล่า” ติ้วกล่าวถึงรุ่นน้องเจ้าน้ำตา

ในกระบวนการทำหนัง “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” เธอคือหัวหน้าทีม ต้องรับผิดชอบหน้าที่อันดูเสมือนง่ายและคุ้นเคย หากแต่ขยับสเกลหรือขอบข่ายงานที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าที่เคยทำแค่เขียนหน้าทาปากตัวเองและจัดเครื่องแต่งกายเล็กๆ น้อยๆ ในคราวเล่นละครเวทีเท่านั้น เธอต้องแบ่งหน้าที่ให้น้องๆ ไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมและทันเวลาก่อนที่ผู้กำกับจะสั่งเทคแรกด้วย


กิ๊กมีน้องๆ ในทีมอยู่สี่ห้าคน ทั้งหมดเป็นน้องๆ ผู้หญิง นุ่งโจงแดง (เทียบได้กับระดับชั้นมัธยม) ดูผิวเผิน แม้จะเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องแบกหามใช้แรงเข้าโถม หากก็ต้องประณีต ละเอียด และอึดถึกทน การเตรียมเสื้อผ้าและต้องแต่งหน้าให้เหล่านักแสดงหลายๆ สิบชีวิตที่ต้องเข้าฉากพร้อมกัน ถือเป็นเรื่องที่ก่อความอลวนตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว


ในวันเปิดกล้องวันนั้น คิวถ่ายถูกกำหนดไว้ที่เวลา 06.00 น. ตามมาตรฐานกองถ่ายทั่วไป นั่นแสดงว่ากิ๊กและลูกทีมต้องแต่งตัวและแต่งหน้าให้นักแสดงพร้อมถ่ายทำตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง กิ๊กนัดลูกทีมตอนตี่สี่ ลุกขึ้นมาเตรียมเสื้อผ้า ตีห้าจะได้แต่งหน้าให้เหล่านักแสดง เธอมั่นใจว่ายังไงก็เอาอยู่ หากแต่เช้านั้นคงไม่ใช่วันของกิ๊ก และวันเปิดกล้องก็เป็นการรับน้องที่แสนสาหัสสำหรับเด็กๆ อีกหลายคน กล่าวคือ เครื่องแต่งกายเตรียมไว้ไม่ครบตัวนักแสดง โจงขาดมั่ง ผ้าพันตัวสลับกันมั่ง ฯลฯ เรียกว่ามั่วไปหมด น้องๆ ในฝ่ายอย่างต้า นัด ซินดี้ และเดีย ต่างก็มึนงงกับการจัดเก็บเสื้อผ้า คนหนึ่งวางไว้ตรงนี้ อีกคนมาหยิบไปใช้โดยไม่บอกกล่าว เครื่องแต่งกายนักแสดงจึงสลับกันจนเวียนหัว กว่าจะตามกลับมาเข้าชุดกันได้ก็เสียเวลาไปอักโข และกว่าจะได้ลงมือแต่งหน้าให้เหล่านักแสดงก็จวนถึงเวลาถ่ายทำอยู่แล้ว เสียงตะโกนเร่งเร้าจากพี่ๆ ก็ยิ่งสร้างความกดดันจนมือไม้แต่ละคนสั่นเป็นเจ้าเข้า เขียนหน้าทาปากให้นักแสดงได้ราวกับคนไม่เคยแต่งหน้า มาก่อนในชีวิต สุดท้ายก็แต่งหน้าให้ตัวละครไม่เสร็จตามเวลา คิวถ่ายทำถูกเลื่อนออกไปจนได้

“วันต่อไปก็ตื่นมาเตรียมเสื้อผ้ากันตั้งแต่ตีสาม หรือถ้าจะให้ดีก็ไม่ต้องนอนกันเลยพวกนี้!”

เสียงตะโกนประชดเย้ยหยันจากพี่ไก่เมื่อทนไม่ได้กับความผิดพลาดของฝ่ายเสื้อผ้าตั้งแต่วันแรก

ทำไมมันจึงเป็นแบบนี้ กิ๊กกับน้องๆ ในฝ่ายเตรียมงานบกพร่องตรงไหน วางแผนไม่ดีหรือเพราะประสบการณ์อันอ่อนด้อย หรือเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ประเดประดังจนทำให้การทำงานเสียขบวน..

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการเริ่มบททดสอบบทแรกต่อกระบวนการทำงานของพวกเขาเท่านั้น

...................................................................................................................................................

(ติดตามต่อตอนที่ 4)


ดู 16 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page