Prayoon Hongsathon
ระนาดเอกทางเปลี่ยน ตอน 4
ฝ่ายอาหารเอาอยู่มั้ยหนอ..?
คิวถ่ายทำถูกเลื่อนเวลา การแต่งหน้าให้เหล่านักแสดงถูกเร่งเร้าต่อเนื่อง เด็กในทีมทุกคนอยู่ในภาวะกดดัน กิ๊กถูกพี่ๆ เรียกไปต่อว่าในเรื่องไม่วางแผนเผื่อเวลาให้ดีๆ กิ๊กแม้จะยอมรับในความผิดพลาดของตนแต่ก็ออกลูกแง่งอน หน้าบูดบึ้ง ถ้อยคำที่ถูกตำหนิด่าว่าเธอก็เก็บบางส่วนไปลงกับน้องๆ ในทีมอีกทอด บรรยากาศการทำงานในทีมจึงอึมครึมเคร่งเครียดแทนที่จะสนุกสนานกันมากกว่า แต่จะว่าไปก็หาได้มีแต่ฝ่ายเสื้อผ้าและแต่งหน้าที่เตรียมงานบกพร่อง ฝ่ายอื่นๆ ก็มีปัญหาเช่นกัน
เวลาเดินต่อไปอย่างซื่อสัตย์ บรรยากาศหน้ากองถ่ายกลับชวนอึดอัด จากอึดอัดกลายเป็นบรรยากาศมาคุเมื่อผู้กำกับเดินมาถึงหน้ากองและเตรียมจะสั่งการตามตารางถ่ายทำที่ 06.00 น. ทว่าเมื่อผู้กำกับถามว่าพร้อมกันหมดรึยัง คำตอบที่ได้คือ ยังครับ ยังค่ะ ใกล้แล้วครับ รออีกหน่อยค่ะ.. ผู้กำกับนิ่งงัน ไม่พูดไม่ถามอะไรต่อ ปล่อยให้ทุกคนลุยงานกันต่อไป เวลาไหลมาร่วมชั่วโมง ผู้กำกับจึงถามขึ้นอีกครั้งว่าพร้อมกันรึยัง และคำถามที่ได้ก็ยังได้ยินว่า ใกล้แล้วครับ..รออีกนิดค่ะ.. เท่านั้นแหละพี่น้องเอ๋ย บรรยากาศที่ว่ามาคุๆ ก็ถึงคราวระเบิดตูม แรงระเบิดจากผู้กำกับทำเอาแทบทุกคนสะบักสะบอมไปตามๆ กัน และคนที่โดนหนักสุดก็ย่อมต้องเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแต่ละฝ่ายนั่นเอง
กิ๊กปาดน้ำตาให้กับความผิดพลาดของตัวเองเหมือนเมื่อคราวทำเสื้อผ้าให้กองถ่ายพรานน้อย ไม่มีใครรู้ว่าในใจเธอคิดอะไร แต่เธอก็ให้คำมั่นกับพี่ๆ ที่หน้ากองถ่ายว่าคราวต่อไปจะเตรียมการเรื่องเวลาให้ดี และจะจัดการเรื่องเสื้อผ้าเครื่องประดับให้เป็นระบบระเบียบ จากนั้นก็กลับไปช่วยน้องๆ แต่งหน้าให้นักแสดงอย่างเงียบงัน
ผมถอยออกมาดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ ค่อยๆ มององค์ประกอบแต่ละส่วนของกองถ่ายหนัง แต่ละฝ่าย แต่ละคน ก็ไม่ต่างจากจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นที่จะต่อเติมซึ่งกันและกันจนเป็นภาพเสร็จสมบูรณ์ผืนใหญ่ พวกเขานอกจากจะประสานมือสามัคคีกันแล้ว หัวใจของพวกเขาก็ต้องเป็นหนึ่งเดียว ภารกิจการทำหนังจึงจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
คำถามในใจของผม คงไม่ต่างจากคำถามของใครอีกหลายๆ คน ณ ที่แห่งนั้น ว่าทำไมเด็กๆ ในแต่ละฝ่ายจึงยังไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร การอิดออดและการเกี่ยงงานยังคงมีให้เห็น บวกกับภาวะที่ยังสับสนและการไม่เคยสร้างหนังมาก่อนจึงยิ่งส่งให้ปัญหาถาโถมเข้าหาพวกเขาจนยากจะรับมือ..นี่แค่เริ่มต้นการทำหนัง หากยังป้อแป้กันอยู่เช่นนี้จะไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร ว่าแล้วก็หลุดพึมพำออกมาเบาๆ เป็นถ้อยคำที่เคยพูดกับคุณติ้วว่า ทำหนังภาพยนตร์นะวุ้ย ไม่ใช่ทำหนังควายตากแห้ง มันไม่ง่ายเหมือนทำหนังควายจี่เว้ยเฮ้ย
“เอาน่า เริ่มต้นกันใหม่” เสียงพี่เชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้กำกับพูดให้กำลังใจน้องๆ “ผิดก่อนก็ได้แก้ปัญหาก่อน คราวหน้าเราต้องดีกว่าเดิม”
เอาล่ะ พักสายตาจากฝ่ายเสื้อผ้าและแต่งหน้าไว้ก่อน เพราะมีอีกหลายฝ่ายให้ทอดสายตาไปหา และขณะที่ผมกำลังสอดส่ายสายตา เด็กหญิงต้นน้ำก็โผล่มายืนอยู่ด้านข้างอย่างเงียบๆ ผมหันไปทักทายเด็กน้อยหน้าคมคิ้วเข้ม เธอกล่าวสวัสดีพร้อมกับยื่นถ้วยกาแฟมาให้

“หนูชงมาให้ลุงเด่นค่ะ”
“โอ..ร่างกายกำลังต้องการพอดีเลยต้นน้ำ”
“ลองชิมดูว่าหนูชงอร่อยมั้ย”
ผมจิบกาแฟอุ่นๆ จากถ้วยเซรามิก แม้รสชาติจะหนักหวานน้ำตาลทรายไปบ้างแต่ก็พอกลั้วคอให้อาการพะอืดพะอมดีขึ้น
“คราวหน้าลุงขอกาแฟสาม น้ำตาลครึ่งช้อนนะจ๊ะ”
“ได้เลยค่ะ หนูจะจำไว้ พี่สตางค์เขาให้หนูทำหน้าที่ชงกาแฟให้ผู้ใหญ่”
“อ้อ บริการดีจริงเชียว”
“พวกหนูเด็กโจงส้มต้องช่วยเสิร์ฟน้ำให้ทุกคนในกองด้วยค่ะ”
เด็กหญิงต้นน้ำเป็นเด็กโจงส้ม (นักเรียนระดับประถม) ในบ้านเรียนละครมรดกใหม่ พี่สตางค์ที่น้องพูดถึงคือรุ่นพี่โจงน้ำเงินซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายอาหารและสวัสดิการ.. อืมม์ เอาเป็นว่าผมขอพาไปดูการทำงานของฝ่ายนี้เลยก็แล้วกัน
ก่อนพูดถึงฝ่ายนี้ก็ต้องยกคำพูดแสนคลาสสิกที่ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” มาอ้างกันเสียหน่อย เพราะอาหารนี้แหละคือความจริงที่สุด เราทุกคนทำโน่นทำนี่ก็เพื่อหาสิ่งนี้มาใส่ท้องเป็นปัจจัยพื้นฐานมิใช่หรือ และเมื่อท้องอิ่มเราก็ถึงจะมีแรงคิดแรงทำแรงสู้กับการงานทั้งปวง เป็นห่วงโซ่หมุนเวียนอยู่เช่นนี้ กองถ่ายหนังระนาดเอกทางเปลี่ยนก็มิได้ผิดแผกไปจากนี้ คิวถ่ายเช้าเริ่มนับที่หกโมง คนทำครัวจึงต้องตื่นเร็วมากๆ ในการจัดเตรียมข้าวปลาเมนูอาหารเพื่อให้กองทัพกองถ่ายได้เติมพลังในมื้อเช้าให้เต็มกระเพาะกันทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าหัวหน้าทีมจะต้องวางแผนจัดการให้ดีที่สุด

ฝ่ายอาหารและสวัสดิการ หัวหน้าทีมคือพี่สตางค์ หรือ น.ส.พรรณนิภา มีจันทร์ สตางค์อายุ 24 ปี เป็นนักศึกษารุ่นเดียวกับกิ๊ก สุรีพร และเพิ่งจบการศึกษาจากสถาบันอาศรมศิลป์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม แขนงละครเพื่อการพัฒนา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นกัน
สตางค์มาอยู่กับมรดกใหม่ตอนอายุ 16 ปี ถึงวันนี้จึงเป็น 8 ปีที่เธอเข้ามาใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชนมรดกใหม่ ฝึกฝนตนเองทุกเช้ามืดจนรู้ว่าชอบรำชอบเต้น และเมื่อเติบโตเป็นรุ่นพี่เธอก็ทำหน้าที่ช่วยสอนน้องๆ ทั้งทักษะการรำ การเต้น ทั้งภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ ได้อย่างแข็งขัน
ในบทบาทของหัวหน้าฝ่ายอาหารและสวัสดิการ สตางค์ใช้วิธีประชุมทีมงานทุกคนล่วงหน้าก่อนหลายวัน จัดแจงแบ่งหน้าที่ให้อย่างชัดเจนเพื่อกันไม่ให้สับสน น้องๆ ในทีมเป็นนักเรียนนุ่งโจงแดงคือ นา แพรี่ แนท หมวย และเด็กน้อยโจงส้มตัวกะเปี๊ยกอีกห้าคนไว้เสิร์ฟน้ำเก็บแก้วให้พวกผู้ใหญ่เป็นหลัก

งานในครัวเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าหนัก ลำพังเด็กผู้หญิงสามสี่นางคงลำบากแน่ๆ กับการต้องเตรียมเมนูหลักให้คนเกือบครึ่งร้อยกินครบสามมื้อในวันที่มีคิวถ่าย ทั้งยังต้องล้างถ้วยล้างชาม เตรียมอาหารว่างอีก เรียกว่าสาหัสน่าจะได้ แต่ก็โชคดีอยู่บ้างที่มีผู้ปกครองของเด็กในโฮมสคูลบ้านเรียนมรดกใหม่ ขออาสาผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยทำอาหารเพื่อแบ่งเบาภาระ เช่นนี้บรรยากาศในครัวแม้จะดูโกลาหลอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ภายใต้ระบบระเบียบการจัดการที่ค่อนข้างดี โดยวันถ่ายทำวันแรกสตางค์กับลูกทีมลุกจากที่นอนตั้งแต่ตีสามเพื่อเตรียมวัตถุดิบ จากนั้นก็ผัดแกงต้มทำสำรับเสร็จสรรพตั้งแต่หัวรุ่ง รอเพียงคำสั่งว่าเสิร์ฟได้ กินได้ พวกเขาถึงจะยกอาหารมาให้แขกประจักษ์ในฝีมือที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน
การจัดการเวลาที่ดีทำให้สตางค์มีเวลาเหลือๆ จนสามารถวิ่งไปช่วยฝ่ายกิ๊กแต่งหน้าให้แสดงตัวประกอบคนอื่นๆ ได้ด้วย ส่วนนา แพรี่ หมวย ก็ได้หยิบจับโน่นนี่แบ่งเบาภาระเพื่อนๆ ฝ่ายอื่นๆ อย่างเสมอกัน สำหรับเด็กโจงส้มที่มีใบหม่อน ต้นน้ำ เป็ดน้อย ใบโพ ฉุย และคำคุณ ก็รอฟังคำสั่งจากพี่สตางค์อย่างน่ารัก แม้จะซุกซนและหายตัวไปโน่นนี่ตามประสาเด็กอยู่บ้างแต่ก็ถือว่าได้งานกันทุกคน

“บางวันก็ต้องตื่นตีสาม แต่บางวันก็ตีสี่ แล้วแต่สถานการณ์ในกองถ่าย เราต้องรู้โปรแกรมถ่ายทำล่วงหน้า จะได้จัดการเตรียมข้าวของและแบ่งเวลาถูก ฝ่ายของเราต้องดูตารางเวลาให้ดี เพราะเราไม่ได้ประจำอยู่แต่ในครัว ต้องวิ่งไปทำอย่างอื่นอีกสารพัดค่ะ ซึ่งบางทีอาหารทำไม่ทันก็มีเหมือนกัน” สตางค์รายงานหน้าที่ตามความเป็นจริง
อ้อ เกือบลืมบอกไป สำคัญที่สุดของฝ่ายนี้คือ รสชาติอาหาร เรียกว่าถูกปากทุกเมนู รสไม่โดด ปรุงกลางๆ สำหรับคนหมู่มาก พริกน้ำปลาไว้ให้พวกติดรสจัดก็ไม่พร่อง..ผ่านครับฝ่ายนี้
.....................................
(ติดตามต่อตอนที่ 5)