Prayoon Hongsathon
ระนาดเอกทางเปลี่ยน ตอน 6
เล่นดนตรีงูๆ ปลาๆ ก็ได้มาเป็นหัวหน้าทีม
พูดถึงอาร์ท โอ๋ แชมป์ แล้วก็ต้องพูดถึงบอลด้วย เด็กหนุ่มพวกนี้มีชีวิตสัมพันธ์กันกันแทบทุกเรื่อง แม้บอลกับแชมป์จะเป็นรุ่นน้องพี่อาร์ทพี่โอ๋อยู่หลายปีก็ตาม พวกเขากินนอนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน จึงไม่แปลกที่เมื่อใครได้รับมอบภารกิจอะไรเป็นต้องช่วยเหลือสนับสนุนกันอย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับภารกิจทำหนังสร้างโรงเรียนด้วยการทำหนังใหญ่เรื่อง “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” บอลถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าฝ่ายดนตรี อันจะว่าหนักก็ไม่ใช่ เบาก็ไม่เชิง แต่ที่แน่ๆ คือดนตรีสำคัญมากๆ เพราะชื่อหนังก็บอกในตัวอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องราวของดนตรี แล้วบอลผู้ไม่ได้มีฝีมือเป็นเอกในทางนี้จะรับผิดชอบไหวหรือ!?

บอล ทรงวุฒิ แผ่พร นักศึกษาโจงน้ำเงินรุ่นเดียวกับกิ๊ก สตางค์ แชมป์ จบการศึกษาจากสถาบันอาศรมศิลป์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม แขนงละครเพื่อการพัฒนา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นทั้งสามคน เข้ามาอยู่มรดกใหม่ตอน ม.4 รวมระยะเวลาที่อยู่กับมรดกใหม่ก็ 8 ปี ฝึกปฏิบัติตนตามวิถีของชุมชน ตื่นตีสี่มานั่งไล่ระนาดกับพี่ๆ น้องๆ อย่างอดทน ผ่านหลายปีแม้จะถูกรุ่นน้องหลายคนแซงไปแล้วแต่บอลก็ยังตีระนาดแบบงูๆ ปลาๆ ของเขาต่อไป
หากว่ากันเชิงฝีมือทางระนาดหรือเครื่องดนตรีอื่นนั้นบอลไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ด้วยอาวุโสและความเข้าใจในหน้าที่ บอลถือว่ามี เขาจึงได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ และเพื่อนๆ ให้เป็นหัวหน้าทีมดูแลด้านดนตรีในภารกิจครั้งนี้ มีน้องในสังกัดคือฮีโร่ เต้ และมะตาล ทั้งหมดเป็นเด็กโจงแดงที่เพิ่งเข้ามาร่วมชายคามรดกใหม่ไม่นานนัก ซึ่งเชื่อว่าสำหรับบอลแล้วมันเป็นเรื่องหน่วงหนักอยู่ภายในใจแน่ๆ
บอลเองก็รู้จุดด้อยของตน เขาจึงไม่ปากหนัก ไม่งึมงำ ไม่อมตุ่ย มีอะไรก็ถามก็วานให้คนนั้นคนนี้มาช่วย โดยตัวหลักๆ ที่เขาเชื้อเชิญมาช่วยก็คือพี่อาร์ทฝ่ายฉาก และนายท้าย-บทละคร จันทร์เรือง ผู้รับบทเป็นไอ้เอกใน “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” นั่นเอง สองหนุ่มนี้มีความสามารถทางดนตรีเหนือกว่าบอล ทั้งยังร่ำเรียนสายดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย จึงนับว่าบอลฉลาดในการเลือกตัวช่วยของเขามาก
“ลองให้มันดูแลคนมั่ง ปล่อยให้มันดูแลแต่ม้าอยู่แก่งปลาปกเมืองเลยมานานแล้ว”
คุณติ้วเย้าหยอกรุ่นน้องผู้เคยอยู่เลี้ยงม้าถึง 6 ตัวเพียงลำพังยาวนานร่วมปี
การวางแผนของบอลทำให้ผมนึกถึงคำพูดของขงเบ้งที่บอกไว้ว่า นักการบริหารที่เก่ง ไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกอย่าง แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องเลือกใช้คนเป็น.. ถือว่าด่านแรกของบททดสอบ บอลทำคะแนนได้เข้าตากรรมการตั้งแต่เริ่มต้น แต่ถึงอย่างไรหน้าที่ในส่วนของบอลก็จะอยู่ที่การดูแลจัดการเครื่องดนตรีให้พร้อมที่หน้ากองถ่ายเป็นสำคัญ ในส่วนเนื้อหาและบทเพลงบอลจึงต้องประสานกับครูช่าง ผู้กำกับโดยตรง และอีกคนที่สำคัญมากๆ คือครูนึก หรือร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ นักดนตรีไทยชั้นแนวหน้าของประเทศ ที่จะคอยช่วยเหลือเป็นแบ็กอัพให้ตลอดการถ่ายทำ
การปฏิบัติงานเชิงลึกเรื่องดนตรีมีผู้แบ่งเบาภาระของบอลไปจนหายห่วง บอลจึงนอกจากจัดเตรียมเครื่องดนตรีแล้วเขามีเวลาไปช่วยงานฝ่ายอื่นๆ ตามแต่ใครจะเรียกใช้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะไปประจำการอยู่ที่ฝ่ายฉากและจัดสถานที่ เพราะฝ่ายนี้มีงานให้ทำอยู่ไม่ขาดมือ

วกไปที่เรื่องดนตรีสักนิด เนื่องจาก “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” เป็นหนังดนตรี พูดถึงระนาดเอกโดยเฉพาะ เสียงเพลงจึงมีเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แทบตลอดเรื่อง โดยเพลงหลักๆ ที่สำคัญต่อกับเนื้อหานั้นมีอยู่ถึง 7 เพลง คือ ด้อมค่าย, ทะเลคลั่ง(ทะเลบ้า), สารถี(ทางหวาน), แสนคำนึง, กราวในทางเทวดา, เสี่ยงเทียน และ ลาวแพน ทั้ง 7 บทเพลงนี้ล้วนแต่ไพเราะ คลาสสิก ประพันธ์โดยบรมครูทางดนตรีไทยทั้งสิ้น
การจะบรรเลงแต่ละครั้งนอกจากเพื่อความบันเทิงเริงรมย์แล้ว ยังหมายถึงการเคารพบูชาครูดนตรีไทย
ไปในตัวด้วย
เห็นชื่อบทเพลงแล้วคนจะมาทำดนตรีประกอบหนังต้องมีความรู้ความสามารถในระดับครูสมนึกเท่านั้น เช่นนี้ บอลจึงต้องคอยประสานระหว่างครูดนตรีและนักแสดงเป็นหลัก แต่ถึงกระนั้น เขาเองก็ต้องเรียนรู้จากครูสมนึกให้มากที่สุด สังเกตการสอนและจดจำวิชาจากครูให้ได้มากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์กับตัวเขาโดยตรงแล้ว ยังเก็บไว้ถ่ายทอดให้น้องๆ ในโอกาสต่อๆ ไปได้อีกด้วย
“ฝ่ายผมไม่ค่อยมีอะไรมากครับ หลักๆ ก็แค่จัดเตรียมเครื่องดนตรีให้พร้อมสำหรับการถ่ายทำ ตรวจเช็กทุกชิ้นที่จะเข้าฉาก ปัญหาก็มีบ้าง อย่างบางทีถ่ายทำแล้วลืมเก็บเครื่องดนตรี อุปกรณ์บางอย่างหายบ้างเพราะไม่รู้ใครหยิบไปเล่นแล้วไม่เอากลับมาคืน บางวันก็วิ่งหาไม้ตีระนาดกันตาเหลือก สุดท้ายก็ไปเจออยู่ในกองผ้าของฝ่ายเสื้อผ้านั่นเอง..ไม่รู้ใครหยิบไปเล่น แบบนี้ก็จะมียั้วะตัวเองบ้าง ที่เลินเล่อไม่ดูแลข้าวของให้ดี”
บอล หัวหน้าทีมดนตรีพูดรัวๆ ถึงบรรยากาศที่พานพบในฝ่ายของเขา


...................................................................................................................................................
(ติดตามต่อตอนที่ 7)