top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPrayoon Hongsathon

ระนาดเอกทางเปลี่ยน ตอน 2

อัปเดตเมื่อ 18 มี.ค. 2562

เมื่อเหล่าเด็กน้อยเตรียมขึ้นสังเวียน..เราจะลุยไปกับมืออาชีพ


ผมทิ้งท้ายบทความในตอนแรกว่า ได้นั่งดูภาพการฝึกทักษะด้านต่างๆ จากห้วงการดริลยามเช้า

ของพวกเด็กๆ แห่งบ้านเรียนละครมรดกใหม่ แม้จะเพลิดเพลินกับเสียงระนาด เสียงฆ้อง เสียงแตร

เสียงดนตรีอื่นๆ ตลอดถึงท่วงท่าการรำโขนที่หาดูได้ยากในโรงเรียนทั่วไปแล้วนั้น แต่ถึงอย่างไร

ในใจก็ยังมีคำถามเหมือนเดิมอยู่ดี ว่าบรรดาเด็กน้อยตาดำๆ พวกนี้จะเรียนรู้ และทำหนัง-ทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งให้สำเร็จเป็นผลได้อย่างไร ซ้ำยังต้องทำให้ออกมาดีในระดับมืออาชีพและเข้าฉาย

ในโรงภาพยนตร์อีกต่างหาก การถ่ายทำหนังไม่ใช่วันสองวันจบ หนังดีๆ เขาทำกันเป็นแรมเดือนทั้งนั้น ความอึด ถึก ทน จึงเป็นอีกคุณสมบัติสำคัญของคนกองถ่าย แล้วเด็กๆ ที่ฝึกไล่ระนาด ดัดมือไม้

เต้นตั้งเสา กระโดดเป็นลิงหนุมานอยู่วันแล้ววันเล่านั้น พวกเขาจะไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร..?



“โปรเจ็กต์นี้มันคือการฝึกเด็กให้เรียนรู้ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ” ติ้วหรือครูติ้วยังเน้นย้ำคำพูดเดิมที่เขาใช้ชักชวนผมให้มาดูกองถ่าย และเมื่อเราได้เจอตัวเป็นๆ ของกันและกัน ติ้วจึงขยายความให้รู้ถึงที่มาของโปรเจ็กต์บ้าบอนี้ว่า ระนาดเอกทางเปลี่ยน ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อฝึกฝนเด็กๆ ให้คิดเป็น ควบคู่ไปกับการต่อยอดพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น ทั้งยังต้องเปิดรับความรู้ใหม่ๆ

ประสบการณ์ใหม่ๆ จากบรรดามืออาชีพที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์อันหาไม่ได้แล้วจากที่อื่นใด นอกจากสังเวียน Beyond crazy project แห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น


ทักษะที่เด็กบ้านเรียนละครมรดกใหม่มีอยู่แล้วคือ เรื่องการแสดงละคร การเล่นดนตรีไทย-ดนตรีสากลประเภทต่างๆ และการรำตามแบบนาฏศิลป์ไทย ซึ่งพวกเขาเพียรฝึกฝนกันตั้งแต่ตีสี่ครึ่งของทุกเช้า

อันเป็นวัตรปฏิบัติเคร่งครัดของสำนักแห่งนี้ โดยในระหว่างการถ่ายทำหนัง เด็กคนไหนที่เป็นตัวละคร

ในระนาดเอกทางเปลี่ยน ที่มีฉากต้องเล่นดนตรีนั้น พวกเขาจะต้องเล่นให้ได้และให้ดีด้วย

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อหนังถ่ายทำเสร็จและผ่านขั้นตอนโพสต์โปรดักชันแล้ว พวกที่เล่นดนตรีเหล่านั้นจะต้องเล่นสดในวันที่หนังออกฉายให้ได้สมกับเป็นมืออาชีพตัวจริง  


ส่วนประสบการณ์และความรู้ใหม่ที่พวกเขาจะต้องเรียนรู้คือ กระบวนการถ่ายทำหนังในทุกขั้นตอน

กล่าวคือ นอกเหนือจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากผู้กำกับคือ ครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง แล้วยังถือเป็นโอกาสอันดีที่พวกเขาจะได้เห็นการถ่ายทำและร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับมืออาชีพในสายภาพยนตร์ตัวจริง อาทิ ได้ร่วมงานกับช่างภาพและนักทำหนังแอนิเมชันมือรางวัลระดับนานาชาติอย่าง

พี่นุ ภาณุเทพ สุทธิเทพธำรง ได้ร่วมงานกับผู้กำกับภาพระดับเก๋าเช่น ลุงทัด สุทัศน์ อินทรานุปกรณ์

ร่วมงานกับช่างภาพมืออาชีพอย่างพี่คาวบอย นัฐพล ขันเงิน ได้เห็นการจัดการกองถ่ายขั้นเทพ

จากพี่เขียว ทั้งได้เรียนรู้การกำกับจากพี่เชิดศักดิ์ ผนวกกับการได้ประกบนักแสดงซึ่งเป็นศิลปินรุ่นใหญ่

ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติอย่าง พี่พิเชฐ กลั่นชื่น ได้รับเคล็ดวิชาด้านดนตรีไทยจาก

ครูสมนึก แสงอรุณ เป็นต้น  โดยมีป้าจู พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร, ครูติ้ว ศุภเมธ หมายมุ่ง,

ครูไก่ ชิงชัย สายสินธุ์, ครูจิ๊บ สุชาดา บุตรงาม และพี่นายท่าน ฐานชน จันทร์เรือง

คอยเป็นพี่เลี้ยงให้อีกชั้นหนึ่ง



ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องหน้ากอง หลังกอง คือสิ่งที่เด็กทุกคนต้องฉกฉวยเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะโอกาสดีงามแบบนี้ไม่รู้จะหาได้ที่ไหนอีกแล้ว ดังนั้นในการเตรียมรับมือกระบวนการเรียนรู้พวกเด็กๆ จึงได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจครั้งสำคัญชัดเจนและบรรลุผลนั่นเอง

โดยแบ่งเป็น 6 ฝ่ายหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้ 1.ฝ่ายเสื้อผ้า 2.ฝ่ายแต่งหน้า 3.ฝ่ายฉาก 4.ฝ่ายดนตรี 5.ฝ่ายเทคนิค 6.ฝ่ายอาหารและสวัสดิการ

ส่วนใครเป็นหัวหน้าแต่ละฝ่าย และสมาชิกมีใครบ้าง แต่ละคนเป็นอย่างไร

อดใจไว้ก่อน ตอนข้างหน้าต่อๆ ไป เราจะได้เห็นกัน

“ตื่นเต้นไปกับพวกๆ เด็กเลยว่ะติ้ว” ผมเก็บความรู้สึกตัวเองไว้ไม่ไหว

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น” คุณเพื่อนติ้ววางมาดเคร่งขรึมดูเป็นงานเป็นการ แล้วเสริมว่า

“ในความเป็นมรดกใหม่ เด็กทุกคนไม่ว่าถูกจัดไปอยู่ฝ่ายใด พอถึงเวลาลงมือทำจริง พวกเขาจะต้องสนับสนุนช่วยเหลือกันและกันให้ได้ทุกฝ่าย มันจะเกิดการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ซึ่งจุดนี้แหละที่จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้การทำงานเป็นทีม มองเห็นปัญหาและหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วง เป็นสถานการณ์ที่พวกเด็กๆ จะต้องจัดการให้ได้ เพื่อการถ่ายทำหนังจะได้ดำเนินต่อไป ตามตารางคิวถ่ายของแต่ละวัน”

​“บ๊ะ!” ผมเผลออุทานจนได้ “มันจะไม่วุ่นวายกันทั้งกองถ่ายรึวะติ้ว”

มองหน้าเพื่อนก่อนเหลียวไปสำรวจเด็กๆ น้องๆ มรดกใหม่ที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่แถวเรือนชัชวาล

แม้ตระหนักว่าพวกเขามีวินัยในการฝึกฝนตนตั้งแต่ก่อนฟ้าสางทุกวันอยู่แล้ว แต่ก็ยังนึกภาพอะไรที่เกี่ยวกับการทำหนังไม่ออก เพียงคิดในใจว่าถึงเวลาออกกองถ่ายจริงก็คงได้เห็นบรรยากาศการทำงาน การรับมือกับปัญหา และวิธีก้าวข้ามปัญหาของพวกเขาด้วยตาตัวเองบ้างล่ะ..

​“โปรเจ็กต์นี้มันจะเหมือนคำของสมเด็จพุทธโฆษาจารย์เลยนะ”

พี่จู พบจันทร์ ซึ่งนั่งเขียนแผนงานบียอนด์ เครซี โปรเจ็กต์ อยู่ไม่ไกลจากจุดที่ผมกับติ้วนั่งคุยกัน

เสริมขึ้นมา “ท่านกล่าวไว้ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ หลักดำเนินไปสู่ความสำเร็จ

ในอิทธิบาทสี่นั่นแหละ ซึ่งสิ่งที่ตรงกับโปรเจ็กต์เราคือ ฉันทะ ก็คือการเต็มใจทำ มีความต้องการที่จะทำ

มีใจรักที่จะทำใจ ใฝ่รักที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ.. พี่ว่ามันตรงมากเลยกับ ‘ระนาดเอกทางเปลี่ยน’

ที่พวกเรากำลังเคี่ยวเข็ญให้เด็กๆ ในบ้านเรียนละครมรดกใหม่ทำอยู่ในตอนนี้”

​ผมยกมือสาธุกับการแสดงธรรมของพี่จู พร้อมผงกหัวหงึกหงักเป็นการตอบรับ ทำทีว่าหยั่งรู้ในหลักธรรมอันลึกซึ้ง ครั้นพี่จูหันไปก้มหน้าเขียนแผนงานต่อ ผมจึงฉวยจังหวะรูดสมาร์ทโฟน รีบสืบค้นความหมายของอิทธิบาทสี่ทันที..!


โปรดติดตาม ตอน 3

………………..………………..


*เชิงอรรถ


*ภาพยนตร์เรื่อง “ระนาดเอกทางเปลี่ยน” ดัดแปลงมาจากละครเรื่อง “ระนาดเอก” ที่เคยเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ.2528 ละครเรื่องนี้ถูกคัดสรรให้เป็น 1 ใน 99 ละครโทรทัศน์ไทย

ประจำรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เจ้าของบทประพันธ์ดั้งเดิมคือ “ครูช่าง” อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง นั่นเอง

“ระนาดเอกทางเปลี่ยน” ฉบับภาพยนตร์ จุดประสงค์หลักอยู่ที่ต้องสร้างโรงเรียนให้มีความแตกต่าง

ออกไป โดยเน้นที่กระบวนการและเรื่องราว อันเป็นสาระสำคัญที่จะฝังรากไว้แก่เยาวชนโดยเฉพาะในช่วงอายุ 16-25 ปี ให้ยึดโยงเอาความอุตสาหะในการทำสิ่งยากให้สำเร็จ ด้วยหลักการนี้จึงเป็นที่มาของการจับเด็กมาทำหนัง กระทั่งก่อเกิดเป็นกระบวรการ Beyond crazy project ขึ้นมา ซึ่งก็สัมพันธ์กับเนื้อหาและตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่น “เอก” ตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งจะได้นำเสนอเรื่องราวและบทบาทตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อไป


**สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ ได้ส่งสารถึงเด็กไทยเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2562 ความว่า..

“เมืองไทยมีอะไรดีๆ หลายอย่าง ที่คนต่างบ้านต่างเมืองมาพบเห็นแล้วชื่นชมประทับใจ นำไปกล่าวขวัญ เช่นความมีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส อย่างนี้ ได้ยินได้รู้จัก อันนั้นก็ช่วยกันรักษาไว้ ให้จริงจังยั่งยืน ไม่ต้องพูดซ้ำซากบ่อยมากเกินไป แต่คนไทยมีอะไรหลายอย่าง ทั้งที่คนไทยติเตียนนินทาต่อว่ากันเอง

และคนข้างนอกก็มองเสียหาย ข้อที่ร้ายนักหนา เกลื่อนกลาดเห็นกันทั่วไป คือไม่มีวินัย ทำอะไรๆ ตามใจชอบ คำแรงๆ เขาว่ามักง่าย อะไรไม่ดีควรรีบแก้ไข แต่จะแก้ได้ คนไทยต้องมีใจเข้มแข็ง คนจะมีแรงใจพอที่จะรักษาวินัยได้จริงจัง ต้องมีพลังของฉันทะ ถ้าคนไทยมีฉันทะ แม้แต่เด็กเล็กตัวน้อยๆ ก็ไม่ถอย

แต่จะมีใจแกล้วกล้ารักษาวินัยด้วยตัวเอง และไม่ใช่แค่วินัย ไม่ว่าอะไรดีๆ ที่ว่ายากๆ ก็จะอยากทำ

และสำเร็จทั้งนั้น แต่ฉันทะนี้ได้หายไป คนไทยไม่รู้จักเสียแล้ว


ปีนี้ พ.ศ.2562 แล้ว ช้าไม่ได้ ต้องให้คนไทยมีใจเด็ดเดี่ยว ปลูกฝังสร้างฉันทะขึ้นมาให้ได้ ตั้งแต่นักเรียนตัวเล็กๆ จะต้องรู้จักมัน แล้วมีฉันทะนำหน้าขึ้นมาเป็นตัวอย่าง แล้วคนไทย เมืองไทย จะก้าวไกล

เป็นผู้นำได้ในภูมิปัญญา และความเจริญก้าวหน้า ทุกเรื่องทุกอย่าง”

***อิทธิบาทสี่ คือหลักธรรมอันดำเนินไปสู่ความสำเร็จ มี 4 อย่าง ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

ฉันทะ คือ เต็มใจทำ ได้แก่ มีความต้องการที่จะทำ มีใจรักที่จะทำใจ ใฝ่รักที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ

ซึ่งถือว่าเป็นหลักธรรมที่โยงเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ของบียอนด์ เครซี โปรเจ็กต์ กับหนัง

“ระนาดเอกทางเปลี่ยน” ได้อย่างกลมกลืน


ดู 106 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page